ไพลสมุนไพรดูแลผิว
สมุนไพรที่ได้รับความนิยมนำมาทำน้ำมันนวดรักษาแก้อาการปวดเมื่อย แก้เส้นสายตามร่างกายตึง แก้อาการเคล็ดยอก ฟกช้ำ แก้โรคผิวหนัง นั้นคือ “ไพล” หรือ “ไพลเหลือง” เป็นพืชสมุนไพลที่หาได้ง่าย ปลูกง่าย ซึ่งในชนิดของไพลมี 3 ชนิดคือ “ไพลเหลือง” “ไพลขาว” “ไพลดำ” 2 ชนิดหลังนี้มีลักษณะคล้ายกัน แยกได้อย่างชัดเจนจากเหง้าที่มีสีต่างกัน มีฤทธิ์และสรรพคุณเหมือนกัน แต่เนื่องจากการปลูกและการขยายพันธ์ ทำได้ยากกว่าจึงไม่เป็นที่นิยมนำมาใช้ทำยาหรือสินค้าในท้องตลาด อ่านสรรพคุณไพลดำเพิ่มเติม
ไพลชื่อสามัญคือ Phlai, Cassumunar ginger, Bengal root มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Zingiber montanum (Koening) Link ex Dietr. จัดเป็นสมุนไพรที่อยู่ในวงศ์ Zingiberaceae และมีชื่อท้องถิ่นที่หลากหลาย เช่น ว่านไพล, ไพลเหลือง, สีไพล, ปูลอย ปูเลย (ภาคเหนือ) ปูขมิ้น มิ้นสะล่าง (ไทยใหญ่-แม่ฮ่องสอน), ว่านไฟ (ภาคกลาง), ว่านปอบ (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
ไพลเป็นไม้ล้มลุก มีเหง้าใต้ดิน เปลือกนอกสีน้ำตาลแกมเหลือง เนื้อในสีเหลืองแกมเขียว มีกลิ่นเฉพาะ แทงหน่อหรือลำต้นเทียมขึ้นเป็นกอ ใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบหอก ดอกช่อแทงจากเหง้าใต้ดิน
องค์ประกอบทางเคมี:
- น้ำมันระเหยง่าย มีสารสำคัญที่เป็นองค์ประกอบ ได้แก่ terpinen-4-ol, sabinene, caryophyllene, cineol, alpha-pinene, beta-pinene, myrcene, terpinene, limonene, p-cymene, terpinolene, eugenol, farneraol, alflabene, 3,4 dimethoxy benzaldehyde
- สารสีเหลือง curcumin, cassumunarins A, B, C
- สารกลุ่มฟีนิลบิวทานอยด์ หลายชนิด เช่น (E)-1-(3,4-dimethoxyphenyl) butadiene (DMPBD) ที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบ และสารอื่นๆ ได้แก่ 4-(4-hydroxyl-1-butenyl)-veratrole, naphthoquinone derivative, vanillin, vanillic acid, veratric acid, β-sitosterol
สรรพคุณของไพลต่อผิวพรรณ
- ไพลมีสารสำคัญคือ สารในกลุ่มเคอร์คิวมินอยด์ (curcuminoids) เหมือนกับที่พบในขมิ้น ซึ่งสารนี้มีคุณสมบัติช่วยบำรุงผิว ทำให้ผิวขาว ปกป้องผิวจากอนุมูลอิสระ และลดการอักเสบ
- น้ำมันหอมระเหยในเหง้ามีสารออกฤทธิ์มากมาย ซึ่งการศึกษาในห้องทดลองพบว่าเป็นสารที่มีฤทธิ์ช่วยลดอาการบวมและอาการปวดได้ จึงช่วยยับยั้งอาการอักเสบด้วยกระบวนการเดียวกับยาแก้ปวดและยาลดอาการอักเสบแผนปัจจุบันเลยทีเดียว ปัจจุบันจึงมีการนำสารสกัดไพลมาผสมในครีมหรือขี้ผึ้งเพื่อทาบรรเทาอาการปวด
- เหง้านำมาเป็นส่วนประกอบของลูกประคบ หรือนำมาฝนเพื่อใช้สมานแผล แก้ฟกช้ำ ปวด บวม เหน็บชา เส้นตึง ปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอก ข้อเท้าแพลง ทาบรรเทาอาการผื่นคันจากการแพ้ โรคผิวหนัง แก้ฝี ดูดหนอง เป็นยากันเล็บถอด ขณะที่น้ำคั้นหัวไพลยังมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่และช่วยลดอาการปวด เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ ข้อเท้าแพลง หรือหากนำไปต้มน้ำอาบ ถูนวดตัวก็ช่วยบำรุงผิวพรรณได้อีกด้วย
ประโยชน์ต่อสุขภาพของไพล
- ใบ รสขื่นเอียน แก้ปวดเมื่อย แก้ครั่นเนื้อครั่นตัว
- เหง้า แก้จุกเสียด แก้ท้องผูก แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้ปวดท้อง เป็นบิดมูกเลือด ขับลมในลำไส้ สมานลำไส้
- ต้น รสฝาดขื่นเอียน แก้ธาตุพิการ อุจจาระไม่เป็นปกติ
- ดอก รสขื่น กระจายเลือดที่เป็นลิ่มเป็นก้อน แก้ช้ำใน ทำลายเลือดเสีย ขับประจำเดือนสตรี
- ราก แก้ท้องอืดเฟ้อ แก้ท้องผูก แก้ปวดท้อง แก้อาเจียนเป็นโลหิต ขับโลหิต
- ต้านเชื้อรา สารสกัดและน้ำมันหอมระเหยจากไพลมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อราในโรคผิวหนังได้
- ต้านการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ จากการทดสอบสารสกัดจากไพล ยับยั้งการหดตัวของกล้ามเนื้อเรียบหลอดลม ยับยั้งการบีบตัวของมดลูก ลำไส้และกระเพาะอาหารได้
- น้ำมันไพลจากเหง้า มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และต้านการอักเสบได้
- รักษาแผลในกระเพาะอาหาร สารสกัดเมทานอลจากไพล และสารบริสุทธิ์สามารถยับยั้งการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ดี
- ลดอาการปวดกล้ามเนื้อ จากการทดสอบไพลในรูปแบบครีมไพลในรูปแบบครีมที่มีความเข้มข้นร้อยละ 14 สามารถลดการปวดกล้ามเนื้อหลังการออกกำลังกายได้ ช่วยลดอาการบวมของข้อเท้าและกล้ามเนื้อช่วยให้การเคลื่อนไหวของข้อเท้าดีขึ้น โดยขยับข้อเท้าลงได้ดีกว่า
- ลดอาการผิวหนังเป็นผื่นนูนแดง จากการศึกษาของยาเม็ดที่มีไพลแห้งขนาด 500 mg สามารถลดขนาดของตุ่มนูนแดงได้ และไม่พบการเปลี่ยนแปลงชีพจร ความดันโลหิต หรือพิษใดๆ
ข้อแนะนำและข้อควรระวังการรับประทานไพล
- การรับประทานไพลติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้ตับผิดปกติได้ และยังไม่มีความปลอดภัยที่จะนำมาใช้เป็นยารักษาโรคหืด และไม่ควรนำมารับประทานแบบเดี่ยวๆ ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน นอกจากจะมีการขจัดสารที่พิษต่อตับออกไปเสียก่อน
- การใช้ครีมไพลห้ามใช้ทาบริเวณขอบตา เนื้อเยื่ออ่อน และบริเวณผิวหนังที่มีบาดแผลหรือมีแผลเปิด
- สตรีมีครรภ์หรืออยู่ระหว่างการให้นมบุตรและเด็กเล็ก ไม่ควรรับประทาน เนื่องจากไพลมีฤทธิ์ในการขับระดูอาจเกิดภาวะแท้งบุตรได้ และเด็กเล็กอาจทำให้เกิดการเจริญเติบโตที่ช้าลง
แหล่งข้อมูล
สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล http://www.medplant.mahidol.ac.th/
https://medthai.com/
ภาพประกอบ : www.flickr.com (by Ahmad Fuad Morad), www.phargarden.com (by Sudarat Homhual)
รวบรวมและเรียบเรียงโดยเซนเฮิร์บชอป
ใส่ความเห็น