“มะรุม” ต้นไม้มหัศจรรย์
“มะรุม” ต้นไม้มหัศจรรย์ เพราะไม่ว่าจะเป็นใบ ดอก และฝักอ่อนของมะรุมที่นำไปประกอบอาหารหรือรับประทานแบบสดก็ได้ ส่วนอื่นๆ เช่น ราก เปลือก น้ำยาง เมล็ด ได้มีการนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการแพทย์แผนโบราณโดยเฉพาะในแถบเอเชียใต้
รู้จักกับมะรุม
มะรุมเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ 15-20 เมตร ทรงต้นโปร่ง ใบคล้ายกับใบมะขามออกเรียงแบบสลับกัน ผิวใบสีเขียว ด้านล่างสีจะอ่อนกว่าด้านบน ดอกออกเป็นช่อสีขาว กลีบดอกมี 5 กลีบ ผลหรือฝักมีความยาว 20-50 เซนติเมตร ลักษณะเหมือนไม้ตีกลอง เปลือกผล หรือฝักเป็นสีเขียวมีส่วนคอด และส่วนมนเป็นระยะตามความยาวของฝัก ฝักแก่ผิวเปลือกเป็นสีน้ำตาล เมล็ดมีเยื่อหุ้มกลมเป็นสีน้ำตาล มีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร เจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่เขตร้อนรวมถึงประเทศไทย
ต้นมะรุมคือความมหัศจรรย์จากธรรมชาติ ที่ทุกส่วนมีประโยชน์ และคุณค่าต่อสุขภาพ ทั้งยังเป็นต้นไม้ที่ปลูกได้ง่าย ในประเทศไทย เติบโตเร็ว และยังทนต่อโรค
ประโยชน์ของมะรุมต่อสุขภาพ
ใบมะรุมเป็นแหล่งของวิตามินและเกลือแร่นานาชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งอุดมไปด้วยสารอาหารต่างๆ ดังนี้ โปรตีน วิตามินบี 6 วิตามินซี 12 วิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) ธาตุเหล็ก วิตามินเอ จากเบต้าแคโรทีน แมกนีเซียม เป็นต้น ซึ่งประโยชน์วิตามินและเกลือแร่ในมะรุม ช่วยเสริมภูมิคุ้มกัน ช่วยเสริมสร้างและบำรุงกระดูก ต้านอนุมูลอิสระสูง บำรุงสายตา ทำให้หัวใจและกล้ามเนื้อทำงานเป็นปกติ และบำรุงกล้ามเนื้อ
ฝักมะรุมถึงแม้จะมีวิตามินน้อยกว่าใบมะรุม แต่ฝักมะรุมสด 100 กรัม ประกอบไปด้วยวิตามินซีสูงถึง 157 เปอร์เซ็นต์ของวิตามินซีที่ควรได้รับในหนึ่งวัน
มะรุมกับการลดระดับน้ำตาลในเลือด
ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นสาเหตุของโรคเบาหวาน และอาจทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ตามมาได้ เช่น โรคหัวใจ จึงจำเป็นต้องรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ไม่เสี่ยงจนเกินไป มีหลายการศึกษาชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของมะรุมที่อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นโดยให้อาสาสมัครที่มีสุขภาพดีจำนวน 10 คนรับประทานผงใบมะรุมชนิดแคปซูล พบว่าการรับประทานผงมะรุมชนิดแคปซูลขนาด 4 กรัมส่งผลให้อาสาสมัครมีการหลั่งอินซูลินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึงแม้ว่าจะไม่พบความแตกต่างของค่าน้ำตาลเฉลี่ยในเลือดก็ตาม และจากผลการทดลองได้แนะนำว่าใบมะรุมอาจมีศักยภาพในการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงผลจากการศึกษาเบื้องต้นที่มีขนาดเล็กเพียง 10 คน จึงยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันคุณสมบัติของมะรุมในการลดระดับน้ำตาลในเลือดที่ชัดเจนต่อไป
มะรุมกับการลดไขมันในเลือด
ไขมันในเลือดสูงเป็นปัจจัยหนึ่งที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรคหัวใจ โดยที่หลายคนเชื่อว่ามะรุมเป็นพืชชนิดหนึ่งที่อาจมีส่วนช่วยลดไขมันในเลือดได้ สอดคล้องกับการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ให้ผู้ป่วยเบาหวานที่มีไขมันในเลือดสูงรับประทานใบมะรุมชนิดผงวันละ 8 กรัม เป็นเวลา 40 วัน พบว่าค่าคอเลสเตอรอลรวม (TC) ค่าคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ค่าไลโปโปรตีนที่มีความหนาแน่นต่ำมาก (VLDL) และค่าไตรกีเซอไรด์ (TG) ลดต่ำลง อีกทั้งค่าคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) เพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังมีอีกหนึ่งการศึกษาให้อาสาสมัครที่มีไขมันในเลือดสูงจำนวน 35 คน รับประทานใบมะรุมแห้งชนิดเม็ดวันละ 4.6 กรัม เป็นเวลา 50 วัน ได้แสดงให้เห็นถึงระดับไขมันในเลือดที่ลดลงเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ยังคงจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันคุณสมบัติของมะรุมในการลดไขมันในเลือดที่ชัดเจน
มะรุมกับการลดอาการอักเสบ
การอักเสบเป็นปฏิกิริยาตามธรรมชาติที่ร่างกายตอบสนองเมื่อมีการติดเชื้อหรือเมื่อได้รับบาดเจ็บ หากมีการอักเสบเป็นเวลานานอาจนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพอื่น ๆ ได้ ซึ่งมะรุมเป็นพืชชนิดหนึ่งที่มีการกล่าวว่ามีคุณสมบัติลดอาการอักเสบ ถึงแม้ที่ผ่านมาจะมีการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิภาพของมะรุมที่ช่วยลดอาการอักเสบเพียงไม่กี่ชิ้น แต่การศึกษาชิ้นหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้แสดงให้เห็นว่าสารสกัดน้ำและเอทานอลจากใบมะรุมมีความโดดเด่นในการต้านการอักเสบ และช่วยลดการสร้างสารเคมีในร่างกายที่ทำให้เกิดการอักเสบ (Proinflammatory Cytokines) จากผลการทดลองได้แนะนำว่าคุณสมบัติลดการอักเสบของสารสกัดน้ำและเอทานอลจากใบมะรุมอาจมีประสิทธิภาพในการรักษาโรคหรืออาการอักเสบ อย่างไรก็ตามเป็นเพียงผลจากการทดลองในห้องปฏิบัติการ จึงจำเป็นต้องศึกษาในมนุษย์เพิ่มเติมเพื่อยืนยันคุณสมบัติของมะรุมในการลดอาการอักเสบที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
มะรุมกับการต้านอนุมุลอิสระ
อนุมูลอิสระคืออะตอมหรือโมเลกุลในร่างกายที่มีอิเล็กตรอนซึ่งไม่มีคู่อยู่ในวงรอบของอะตอม หากมีในปริมาณมากเกินไปอาจแทรกแซงการทำงานของเซลล์ เป็นสาเหตุทำให้เซลล์ต่าง ๆ เกิดความเสียหาย และส่งผลเสียต่อร่างกาย หลายคนอาจมีความเชื่อว่ามะรุมมีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาความสัมพันธ์ของสารสกัดจากใบและฝักมะรุมต่อการต้านอนุมูลอิสระ พบว่าสารสกัดด้วยน้ำของใบมะรุมอาจช่วยเพิ่มระดับกลูตาไทโอนซึ่งเป็นสารที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ สร้างโปรตีนที่จำเป็น และมีประโยชน์ต่อระบบภูมิต้านทานของร่างกาย อีกทั้งสารสกัดเอทานอลจากฝักมะรุมยังมีสารประกอบฟีนอลิคและทำให้อนุมูลอิสระอ่อนแอลง นอกจากนี้ยังไม่พบพิษจากการรับประทานสารสกัดจากมะรุมในปริมาณสูงสุด 100 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และจากผลการศึกษาได้สนับสนุนคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระของมะรุม ซึ่งอาจเป็นเพราะมะรุมมีสารในกลุ่มฟลาโวนอยด์สูง รวมถึง แคมพ์เฟอรอล โฟลีฟีนอล แคโรทีนอยด์ และกรดซินนามิก อย่างไรก็ตามเป็นเพียงผลจากการทดลองในหลอดทดลองและสัตว์ จึงยังจำเป็นต้องศึกษาในมนุษย์เพิ่มเติม
มะรุมกับการต้านมะเร็ง
มะรุมเป็นผักที่หลายคนเชื่อว่ามากไปด้วยคุณประโยชน์ต่อร่างกาย และเชื่อว่าอาจช่วยต้านมะเร็งได้ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่ามะรุมอาจมีคุณสมบัติต้านมะเร็งโดยเข้าแทรกแซงการขยายตัวและการเคลื่อนที่ของเซลล์มะเร็ง อีกทั้งยังพบว่าเซลล์มะเร็งเต้านม และมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่รักษาด้วยสารสกัดจากใบและเปลือกของมะรุมมีอัตราการอยู่รอดต่ำอย่างมีนัยสำคัญ จากผลการศึกษาอาจกล่าวได้ว่าสารสกัดจากใบและเปลือกของมะรุมมีสารออกฤทธิ์ที่แสดงให้เห็นถึงคุณสมบัติการต้านมะเร็งได้ และอาจสามารถนำไปต่อยอดทำยารักษามะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ อย่างไรก็ตาม เป็นเพียงผลการทดลองที่จำกัดในวงแคบและยังไม่มีการทดลองในมนุษย์ จึงยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อยืนยันคุณสมบัติของมะรุมในการต้านมะเร็งที่ชัดเจนยิ่งขึ้น
ประโยชน์ของมะรุมต่อความงาม
น้ำมันมะรุมมีปริมาณวิตามินที่จำเป็นต่อการฟื้นฟูผิวและช่วยบำบัดรักษาผิวดังนี้
- วิตามิน เอหรือ Retinol สูง ที่ความสำคัญในการช่วยสร้างคลอลาเจนซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของผิวเป็นวิตามินที่เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยลดการเกิดริ้วรอยบนใบหน้า
- วิตามิน ซี หรือ Ascorbic Acid สารต้านอนุมูลอิสระ เป็นประโยชน์ต่อการบำบัดแผลที่ผิวและรอยด่างดำต่างๆ เพราะมีประสิทธิภาพในการรักษาปริมาณคลอลาเจนในผิวให้คงที่ ดังนั้นวิตามิน ซี จึงมีผลโดยตรงต่อการเกิดริ้วรอยที่ผิว และรักษาผิวที่แพ้แดด และดีต่การซ่อมแซมผิวที่ถูกทำลาย ฟื้นฟูสภาพผิวได้ดีเหมาะสำหรับทุกคน
- วิตามิน อี หรือ Tocopherol เป็นวิตามินอีกชนิดที่ต้านการเกิดอนุมูลอิสระ รักษาอาการอักเสบที่ผิว เสริมสร้างความชุ่มชื่นแก่ผิวทำให้ผิวมีความนุ่มนวลเรียบเนียน
ข้อแนะนำ/ข้อควรระวัง
- การรับประทานมะรุมทั้งส่วนใบ ฝัก และเมล็ดค่อนข้างปลอดภัยหากรับประทานเป็นอาหารในปริมาณที่เหมาะสม
- ไม่ควรรับประทานรากและสารสกัดจากรากของต้นมะรุมเพราะอาจมีสารพิษซึ่งเป็นสาเหตุของอัมพาตหรือเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- ในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ไม่ควรรับประทานราก เปลือก และดอกของมะรุม เนื่องจากอาจมีสารเคมีปะปน อาจทำให้มดลูกหดตัวและเป็นสาเหตุให้แท้ง
- ผู้ป่วยที่เป็นโรคตับ ควรหลีกเลี่ยงการทานมะรุม เพราะมะรุมจะส่งผลให้มีค่าเอนไซม์ของตับสูงขึ้น
- ผู้ป่วยเป็นโรคเลือดไม่ควรรับประทานมะรุม เพราะจะทำให้เม็ดเลือดแตกได้ง่าย
- ไม่ควรรับประทานมะรุมติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะจะส่งผลให้ค่าเอนไซม์ ในตับสูงขึ้น ทำให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับตับอาจส่งผลให้เป็นโรคตับได้
- ผู้ป่วยโรคเกาต์ไม่ควรรับประทาน เพราะจะทำให้ได้รับโปรตีนที่สูงเกินไปทำให้เกิดอันตรายกับโรคเกาต์ที่เป็นอยู่
- มะรุมมีฤทธิ์ร้อน ระวังในผู้ที่มีธาตุเจ้าเรือน ไฟ หรือมีภาวะร้อนง่าย อาจส่งเสริมให้เกิดความร้อนในร่างกายได้
สรุปการรับประทานมะรุม
ในส่วนต่างๆ ของมะรุมแม้จะมีประโยชน์มาก และเป็นพืชที่ได้รับการยอมรับโดยกว้างขวาง แต่การรับประทานในจำนวนที่มากกว่าที่ร่างกายต้องการนั้น อาจก่อให้เกิดผลเสีย สำหรับผู้รับประทานที่มีโรคหรือสภาวะร่างกายตามข้อควรระวังของมะรุมและต้องการใช้มะรุมในการบำบัดรักษา ควรหาข้อมูลและปรึกษาแพทย์
ข้อมูลอ้างอิง
ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
เว็บไซต์ www.pobpad.com และ www.teaoilcenter.org
เรียบเรียงข้อมูลโดยเซนเฮิร์บชอป
ใส่ความเห็น