ฟ้าทะลายโจรสมุนไพรแก้ไข้หวัด
ปัจจุบันมีสมุนไพรฟ้าทะลายโจรจำหน่ายในท้องตลาดเพื่อใช้ในบรรเทาอาการหวัดเจ็บคอ รักษาโรคระบบทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหารอย่างแพร่หลาย ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่ได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ. 2542 (บัญชียาจากสมุนไพร) กระทรวงสาธารณสุข มีรสขม อยู่ในกลุ่มยาเย็น มีข้อบ่งใช้คือ แก้ไข้ เจ็บคอ รักษาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ โดยใช้เป็นแคปซูล/ยาเม็ด/ยาเม็ดลูกกลอน ที่บรรจุผงฟ้าทะลายโจรอบแห้งปริมาณต่างๆกัน จากรายงานผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์สรุปได้ว่า สารสกัดสมุนไพรฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาหลากหลาย เช่น ฤทธิ์ต้านไวรัส HIV1 ไข้หวัด ยาต้านเชื้อแบคทีเรีย กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดความดันเลือด ต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด ป้องกันความเป็นพิษของตับ ลดไข้และต้านการอักเสบ และฆ่าเชื้อมาลาเรียเป็นต้น
ฟ้าทะลายโจรหรือที่คนทั่วไปอาจรู้จักในชื่อ ฟ้าทะลาย หญ้ากันงู น้ำลายพังพอน เมฆทะลาย ฟ้าสะท้าน ชื่อทางวิทยาศาสตร์ Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees (วงศ์ Acanthaceae) เป็นพืชล้มลุก สูงประมาณ 30-60 ซม. ลำต้นตั้งตรงกิ่งก้านเป็นสันสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปใบหอก ดอกสีขาวแกมม่วง มีขน ผลเป็นฝักรูปทรงกระบอก สีเขียวอมน้ำตาล เมื่อผลแก่จะแตกดีดเมล็ดออกมา ใช้เมล็ดขยายพันธุ์ ฟ้าทะลายโจรมีเขตการกระจายพันธุ์ และเพาะปลูกได้ดีในภูมิภาคที่มีอากาศร้อน หรือร้อนชื้น สามารถปลูกได้ทุกฤดูกาล แต่ฤดูที่เหมาะสมคือ ช่วงต้นฤดูฝน ชอบดินร่วนซุยที่มีการระบายน้ำดี เจริญเติบโตได้ทั้งในสภาพที่ร่มและกลางแจ้ง ถ้าปลูกในพื้นที่กลางแจ้งจะมีลำต้นเตี้ยและใบหนา ส่วนในที่ร่มลำต้นจะสูงใบใหญ่แต่บาง พื้นที่ปลูกจึงควรเป็นที่โล่งแจ้ง หรือมีแสงรำไรและมีน้ำอุดมสมบูรณ์
องค์ประกอบทางเคมี:
สารสำคัญในการออกฤทธิ์ คือ สารกลุ่ม Lactone เช่น สารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) นีโอแอนโดรกราโฟไลด์ (Neoandrographolide) ดิออกซีแอนโดรกราโฟไลด์ (14-Deoxyandrographolide) และดิออกซีไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ (14-Deoxy-11,12-didehydroandrographolide) เป็นต้น
ประโยชน์ต่อผิวพรรณของฟ้าทะลายโจร
ส่วนของใบสามารถนำมาใช้บรรเทาอาการน้ำร้อนลวก ไฟลวก แก้พิษงู ทาแก้แมลงสัตว์กัดต่อยได้
ประโยชน์ต่อสุขภาพของฟ้าทะลายโจร
- รักษาอาการของโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ ลดความรุนแรงของอาการไอเนื่องจากไข้หวัดและอาการอักเสบของระบบทางเดินหายใจได้ เนื่องจากอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เป็นอิทธิพลของธาตุไฟที่เพิ่มปริมาณสูงขึ้น เราจึงสามารถใช้สมุนไพรฤทธิ์เย็น (สมุนไพรฟ้าทะลายโจร) เพื่อใช้ในการรักษาอาการที่ส่งผลมาจากอิทธิพลของไฟที่เพิ่มขึ้นได้ พูดง่ายๆคือ ใช้ความเย็น ปรับหรือลดปริมาณความร้อนในร่างกายให้สมดุลนั่นเอง
- บรรเทาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่เกิดจากการติดเชื้อ เช่นอุจจาระไม่เป็นมูกหรือมีเลือดปน
- มีฤทธิ์ในการต้านอนุมูลอิสระ
- มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย
- มีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อมาลาเรีย
- มีฤทธิ์ในการต้านการเกาะตัวของเกล็ดเลือด
- ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด สารดิออกซีไดดีไฮโดรแอนโดรกราโฟไลด์ในฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ในการขยายหลอดเลือดและลดอัตราการเต้นของหัวใจได้ แต่หากผู้บริโภคได้รับฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณสูงเกินไป อาจทำให้เกิดอาการของความดันเลือดต่ำได้ จึงควรระมัดระวังในการใช้ฟ้าทะลายโจรด้วย
- มีฤทธิ์ต้านการเจริญของเซลล์มะเร็ง สารสกัดในฟ้าทะลายโจรนี้สามารถไปยับยั้งวงจรชีวิตของเซลล์ที่ระยะ G1/S phase และกระตุ้นให้เซลล์ตายด้วยขบวนการอะพรอพโธสีส
ข้อแนะนำและข้อควรระวังการรับประทานฟ้าทะลายโจร
- อาจจะมีผลข้างเคียง คือ มีความดันเลือดต่ำลง ทำให้เกิดอาการหน้ามืด วิงเวียนได้
- การนำผลิตภัณฑ์ที่ผลิตไว้นานแล้วมาใช้สามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงเกี่ยวกับการลดลงของความดันเลือดที่ไม่พึงประสงค์ได้
- ห้ามใช้ในหญิงต้ังครรภ์และให้นมบตุร เนื่องจากอาจทำให้เกิดทารกวิรูปได้
- หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขนขามีอาการชาหรืออ่อนแรงได้
- หากใช้ฟ้าทะลายโจรติดต่อกัน 3 วัน แล้วไม่หาย หรือมีอาการรุนแรงขึ้นนระหว่างใช้ยา ควรหยุดใช้และพบแพทย์
- ควรระวังการใช้ร่วมกับสารกันเลือดเป็นลิ่ม (anticoagulants)และยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด (antiplatelets)
- ควรระวังการใช้ร่วมกับยาลดความดันเลือดเพราะอาจเสริมฤทธิ์ิกันได้
- ควรระวังการใช้ร่วมกับยาที่กระบวนการเมแทบอลิซึม ผ่านเอนไซม์ Cytochrome P450 (CYP) เนื่องจากฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์ยับย้ังเอนไซม์ CYP1A2, CYP2C9 และCYP3A4
- อาการไม่พึงประสงค์ อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติของทางเดินอาหาร เช่น ปวดท้อง ท้องเดิน คลื่นไส้ เบื่ออาหาร วิงเวียนศรีษะ ใจสั่นและอาจเกิดลมพิษได้
ข้อคิดก่อนรับประทาน
ก่อนรับประทานผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร ตรวจสอบวันเดือนปีที่ผลิต แม้ว่าการศึกษาความเป็นพิษของผงฟ้าทะลายโจรไม่พบความผิดปกติทางโลหิตวิทยาหรือชีวเคมีของเลือดในขนาดที่ใช้รักษาในคนนั้น และมีความปลอดภัยสูงแต่ก็ยังมีข้อควรระวังก่อนรับประทาน ดังนั้นจึงควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมหรือปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานนะคะ
แหล่งข้อมูล
รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ.นพมาศ สนุ ทรเจริญนนท์ ประธานวิทยาลยัเภสชักรรมสมนุ ไพรแห่งประเทศไทย
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลหน่วยแพทย์ทางเลือก https://med.mahidol.ac.th
สำนักงานข้อมูลสมุนไพรคณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล
ห้องปฏิบัติการวิจัยเภสัชวิทยา สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ (CRI) http://www.eht.sc.mahidol.ac.th
รวบรวมและเรียบเรียงโดยเซนเฮิร์บชอป
ใส่ความเห็น